วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

Tourism Thailand

ที่มา http://www.youtube.com/watch?v=DEjcComji0o&feature=fvwrel

สถานที่ท่องเที่ยวสุดขีด

ที่มา http://www.youtube.com/watch?v=P8BHCaM_oa8

10 แหล่งสถานที่ท่องเที่ยว ช่วงฤดูฝน

ใครว่า….หน้าฝนต้องนั่งกร่อย ได้แค่มองแต่หน้าต่าง หากแต่ใต้ผืนฟ้าช่วงหน้าฝนมีเรื่องมหัศจรรย์ให้นักท่องเที่ยวได้ค้นหาอีกเยอะ
ใครจะรู้ว่าบ้างว่าหลังจากเม็ดฝนที่โปรยปรายจะเนรมิตเสน่ห์ความสดชื่น ของท้องฟ้า สายน้ำ ผืนป่า และพืชพรรณ ให้สวยงามได้ขนาดนี้ ฟ้าฝนไม่ใช่อุปสรรคสำคัญ สำหรับการก้าวเดินของเหล่าบรรดาผู้ที่หลงรักการท่องเที่ยว เพราะในทุกฤดูฝน ความงามที่แตกต่างของธรรมชาติจะปรากฎให้เห็นในมุมมองใหม่ที่สดชื่นกว่าเดิม สามารถเรียกพลังความสดใสกลับมา

เริ่มจากการเดินทางระยะไกลๆ กันที่ 1 จังหวัดนครศรีธรรมราช มีโปรแกรม “เที่ยวป่าและน้ำตกกรุงชิง” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเขาหลวง จ. นครศรีธรรมราช ที่ถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติสูงมากเป็นป่าดิบชื้นที่แน่นทึบตั้งแต่ราบต่ำถึงเชิงเขา ทำให้ที่นี่นับเป็นแหล่งดูนกที่น่าสนใจที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้ จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “สวรรค์ของนกแดนใต้” ขณะที่น้ำตกกรุงชิงเอง ไม่น้อยหน้า เพราะมีความสูงถึง 7 ชั้น และความงามที่แตกต่างในแต่ละชั้นให้ได้ประหลาดใจ

ขึ้นมาภาคเหนือภูมิใจเสนอ  2 โปรแกรมเที่ยว ป่าเพชรบูรณ์  อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ซึ่งความแปลกตาของป่าผืนนี้คือ ป่าสน ที่อายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี ทำให้ต้นสนที่นี่สูงลิบตา 30-40 เมตรตระหง่านเรียงรายตัดกับพื้นหญ้าเขียวขจีบนภูเขาเพชรบูรณ์ที่สลับซับซ้อน ผสมกับอากาศหนาวเย็นปกคลุมตลอดปี เย้ายวนให้นักท่องเที่ยวเร่งฝีเท้าเข้ารับความสดชื่นในป่าผืนนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก

ก่อนเดินทางไปที่ จุดหมายที่ 3 อำเภอเชียงดาวจังหวัดเชียงใหม่ มีอะไรมากกว่าที่คิด เพราะที่นี่ อุทยานแห่งชาติเชียงดาวและดอยผาแดง ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำปิงและแม่แตง มีความอุดมสมบูรณ์ของป่ามากแห่งหนึ่งของภาคเหนือ โดยมีทิวทัศน์ที่สวยงามบนยอดดอยเป็นเป้าหมายที่ท้าทายสำหรับภาระกิจการเดินทางเที่ยวป่าครั้งนี้

หากต้องการสถานที่สำหรับครอบครัว 4 อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่ครอบคลุม 4 จังหวัด คือ จังหวัดสระบุรี จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดนครนายก ยังเป็นคำตอบที่ดีด้วย สมญานามแห่งการเป็นอุทยานมรดกของกลุ่มประเทศอาเซียน ทำให้ที่นี่แม้เป็นฤดูฝน แต่สภาพ่ก็ชุ่มฉ่ำ ป่าไม้ทุ่งหญ้าเขียวขจีสดสวย น้ำตกทุกแห่งไหลแรงส่งเสียงดังก้องป่า ให้ชีวิตชีวาแก่ผู้ไปเยือน

สถานที่แห่งที่ 5 ขอแนะนำ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ตั้งครอบคลุมพื้นที่รอยต่อของสองจังหวัด คือ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งในหน้าฝนนั้นเส้นทางที่เดินไปยังจุดท่องเที่ยวต่างๆทั้งลานหินปุ่ม ผาชูธง หรือลานหินแตก ปรากฎความเขียวชะอุ่มของมอสสีเขียวสดตัดกับแนวพื้นหิน และทิวป่า 3 ประเภททั้ง  ป่าเต็งรัง ป่าดิบเขา และป่าสนเขาที่ถ่ายทอดความสุนทรีย์ของวอลล์เปเปอร์ธรรมชาติได้ต่างกัน

ใครอยากได้ความเร้าใจกับกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จุดหมายที่ 6 โปรแกรม ล่องแก่งลำน้ำเข็ก ที่จังหวัดพิษณุโลก การันตีได้ถึงความมันส์ เพราะความท้าทายในการล่องแก่งช่วงกลางของลำน้ำแห่งนี้ ถือว่ามีระดับความยากสูง ระดับ 5 ของการล่องแก่งอันดับต้น ๆ ของสายน้ำในประเทศไทย

หากยังต้องการเพิ่มดีกรีความตื่นเต้นจากกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงผจญภัย แหล่งที่ 7  ขอแนะนำลำน้ำที่เชี่ยวกรากอีกที่อย่าง “แก่งหินเพิง” จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งกิจกรรมล่องแก่งจะเริ่มต้นขึ้นในทุกช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี หรือช่วงหน้าน้ำที่จะช่วยเติมเต็มความสนุกสนามจากการล่องแก่งได้มากที่สุด ระยะทางการล่องแก่งที่นี่ยาว 2.5 กิโลเมตรและมีระดับความยากถึงระดับ 5 เช่นกัน

สถานที่แห่งที่ 8 เป็นการผสมผสานระหว่างความท้าทายเหนือสายน้ำ และทิวทัศน์บรรยากาศธรรมชาติที่ถูกสร้างสรรค์อย่างสวยงาม นั่นคือ วังตะไคร้ จังหวัดนครนายก ที่นี่นอกจาก น้ำตกจำลอง สวนไม้ดอกคุณท่าน และสระปทุมแล้ว ในฤดูฝนหลากการล่องแก่งห่วงยาง หรือแก่งแพยาง หรือจะเป็นกิจกรรมที่รอให้หลายๆคนฝ่าฝนออกมาค้นหา

2 สถานที่สุดท้ายในผืนแผ่นดินใกล้ๆกัน ที่จังหวัดตาก นักท่องเที่ยวสามารถ เริ่มต้นท่องเที่ยวจากแห่งที่ 9 เมืองอุ้มผาง ที่มีผืนป่าบริสุทธิ์ ไว้ให้ทอดน่องยลทัศนียภาพและอากาศบริสุทธิ์ของป่า หรือจะเลือกการนั่งช้างมองมุมสูง แวะสัมผัสกระแสน้ำตกสายที่กระเซ็นสดชื่น

หลังจากนั้นยังสามารถออกเดินทางออกจากอุ้มผสู่จุดหมายสุดท้ายที่ 10  ทีลอซู ด้วยการล่องแพ เมื่อใช้แพยางหรือไม้ไผ่ลัดเลาะสารพันแก่งสู้สายน้ำ ไปถึงน้ำตกทีลอซู ก็สุดจะคุ้มค่าแล้ว กับความงามของหนึ่งในน้ำตกที่ยิ่งใหญ่ด้วยความสูง 300 เมตร
สำหรับคนที่ตกลงปลงใจเก็บกระเป๋าย่ำเท้าเที่ยวหน้าในฝนนี้ คงต้องมองหาความปลอดภัยโดยการศึกษาข้อมูลสภาพฟ้าฝนและการเดินทางก่อนนะคะ เพราะบ่อยครั้งน้ำมากเกินไป หรือฝนตกหนักจนดินถล่มก็อาจเป็นอุปสรรคและอันตรายต่อการเดินทางได้

ที่มา    http://www.tlcthai.com/travel/5655

10 อันดับ ''ที่สุดในโลก''

ที่มา http://www.youtube.com/watch?v=AoMWkdBUr5U&feature=related

แหล่งมรดกโลกของไทย

         
           คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2530 และเห็นชอบให้นำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของไทยรวม 6 แหล่ง เพื่อบรรจุไว้ในบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลก ได้แก่
แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
อุทยานแห่งชาติทางทะเลหมู่เกาะตะรุเตา
และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง
          นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2532 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้ส่งผู้แทน เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลกเป็นประจำทุกปี เพื่อรับทราบแนวทางในการอนุรักษ์และจัดการแหล่งมรดกโลกในระดับสากลเพื่อนำมาเป็นแนวทางการดำเนินงานในประเทศ ในสมัยประชุมของสมัชชาของประเทศภาคีในอนุสัญญาฯ ครั้งที่ 7 ปี พ.ศ. 2532 ประเทศไทยได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการมรดกโลกซึ่งมีทั้งหมด 21 คนจาก 21 ประเทศ โดยได้รับการเลือกตั้งและมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 6 ปี ต่อมาในปี พ.ศ 2533 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกขึ้นโดยมี ศาสตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ เป็นประธาน และสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมเป็น ฝ่ายเลขานุการ เพื่อดำเนินงานต่างๆให้เป็นไปตามข้อผูกพันของอนุสัญญาคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก เช่น การเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลก การเสาะแสวงหาแหล่งมรดกวัฒนธรรมและธรรมชาติที่มีคุณค่าและความสำคัญ เสนอเพื่อบรรจุไว้ในบัญชีแหล่งรายชื่อมรดกโลกรวมทั้งการให้ความคุ้มครอง สงวนรักษาส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติให้คงอยู่เป็นมรดกของมวลมนุษยชาติตลอดไป เป็นต้น นอกจากนั้นคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกนี้ ยังมีหน้าที่ในการประสานงานและสอดส่องดูแลให้มีการดำเนินงาน ตามแผนการจัดการแหล่งมรดกโลกด้วย ซึ่งคณะกรรมการแห่งชาติฯ ได้ร่วมกันปรับปรุงข้อมูลรายละเอียดของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม และธรรมชาติ 6 แหล่งที่ได้ทำการเสนอไปแล้วให้เป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของคณะกรรมการมรดกโลก และคณะกรรมการมรดกโลกได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบข้อเท็จจริงและศักยภาพ ของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติทั้ง 6 แหล่ง โดยละเอียดและในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 15 ปี พ.ศ. 2534 ที่ประเทศสาธารณรัฐตูนิเซีย ได้ประกาศให้แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทยจำนวน 2 แหล่ง คือ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร และอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และแหล่งมรดกทางธรรมชาติ 1 แหล่ง คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ได้รับการบรรจุไว้ในบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลก และในปีถัดมาคือ พ.ศ. 2535 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 16 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศให้แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมอีกแหล่งหนึ่งด้วย
โดยสรุปแล้วปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีโบราณสถานที่ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกอันนำมาซึ่งชื่อเสียง เกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง 3 แห่ง ได้แก่
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย - ศรีสัชนาลัย – กำแพงเพชร
อุทยานประวัติศาสตร์ทั้ง 3 แห่ง อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันและมีอายุไล่เลี่ยกัน อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย ในอดีตเคยเป็นนครหลวงแห่งแรกของไทย อุทยานประวัติศาสตร์ ศรีสัชนาลัย ตั้งอยู่ในอำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ในอดีตศรีสัชนาลัย มีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงเอกของสุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ไม่ไกลจากเมืองเก่าสุโขทัยเท่าใดนัก ในอดีตเมืองกำแพงเพชรถือเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของอาณาจักรสุโขทัย
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
ตั้งอยู่ที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา ภายในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาประกอบด้วยโบราณสถานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวัดมงคลบพิตร พระราชวังโบราณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดพระราม วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และ เพนียดคล้องช้าง ล้วนเป็นหลักฐานทางอารยธรรมซึ่งแสดงถึงระยะเวลาอันสงบสุขและเป็นปึกแผ่นที่ยาวนานที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์
แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ในฐานะที่เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ได้ค้นพบหลักฐานจำนวนมาก ที่สำคัญได้แก่ โครงกระดูกในหลุมฝังศพ ภาชนะดินเผาลายเขียนสี เครื่องมือเครื่องใช้ และเครื่องประดับที่ทำด้วยสำริดและเหล็ก
บทกำหนดโทษกรณีฝ่าฝืนหรือกระทำผิดพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504
แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติโบราณสถานฯ ได้บัญญัติบทกำหนดโทษสำหรับ การกระทำความผิดต่อโบราณสถานไว้ 3 มาตรา ได้แก่ มาตรา 32 มาตรา 34 และมาตรา 35 ซึ่งเมื่อได้พิจารณาบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว สามารถสรุปกรณีการกระทำความผิดต่อโบราณสถานได้ดังนี้
การกระทำที่เป็นเหตุให้ต้องรับโทษตามมาตรา 32 ได้แก่ การบุกรุก ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมเสีย หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน ถ้าเป็นการกระทำต่อโบราณสถานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน มีโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินเจ็ดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าเป็นการกระทำต่อโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว มีโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การกระทำที่เป็นเหตุให้ต้องรับโทษตามมาตรา 34 ได้แก่ กรณีโบราณที่ขึ้นทะเบียนและมีเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ชำรุด หักพัง หรือเสียหาย แล้วไม่แจ้งเป็นหนังสือให้อธิบดีกรมศิลปากรทราบภายในสามสิบวัน กรณีมีการโอนโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วไม่แจ้งการโอนให้อธิบดีกรมศิลปากรทราบ และกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่กำหนดให้ผู้เข้าชมปฏิบัติ (กฎกระทรวงฉบับที่ 1 พ.ศ. 2539) และเสียค่าธรรมเนียมเข้าชมโบราณสถาน (กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2539) มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การกระทำที่เป็นเหตุให้ต้องรับโทษตามมาตรา 35 ได้แก่ กรณีที่ซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อถอน ต่อเติม ทำลาย เคลื่อนย้ายโบราณสถานหรือ ส่วนต่างๆ ของโบราณสถาน หรือขุดค้นสิ่งใดๆ ภายในบริเวณโบราณสถาน หรือปลูกสร้างอาคารภายในบริเวณโบราณสถานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากร หรือฝ่าฝืนเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดไว้ในหนังสืออนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
           พิจารณาคัดเลือกแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม และธรรมชาติ โดยมี ICOMOS (International Council on monuments and Sites) และ IUCN (World Conservation Union) เป็นองค์กรที่ปรึกษาด้านวิชาการ ในการพิจารณาข้อเสนอของแหล่งมรดกโลก ตลอดจนจัดทำรายงานผลการประเมินความเหมาะสมของแหล่งที่นำเสนอเป็นมรดกโลกด้วย บริหารกองทุนมรดกโลก รวมทั้งพิจารณาจัดสรรให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการและการเงินต่อประเทศที่ร้องขอมาอีกด้วย
ข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลก
แหล่งมรดกทางวัฒนธรรม
เป็นตัวแทนซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ ด้านศิลปกรรมหรือตัวแทนของความงดงาม และเป็นผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันฉลาดยิ่ง หรือ
เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวนและภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งการพัฒนาเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใดๆของโลกซึ่งทรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม หรือ
เป็นเอกลักษณ์ หายากยิ่ง หรือเป็นของแท้ดั้งเดิม หรือ
เป็นตัวอย่างของลักษณะโดยทั่วไปของประเภทของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม หรือ
เป็นตัวอย่างของลักษณะเด่นชัด หรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรม วิธีการก่อสร้าง หรือการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่มีความเปราะบางด้วยตัวมันเอง หรือเสื่อมสลายได้ง่ายเพราะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่ไม่สามารถกลับคืนดังเดิมได้ หรือมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ หรือ
มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือมีความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์

ประเภทของโบราณสถาน
การแบ่งแยกประเภทของโบราณสถานอาจกระทำได้ 2 วิธี โดยแบ่งแยกจากหลักการที่ใช้ในการพิจารณาซึ่งได้แก่ หลักกรรมสิทธิ์ และหลักการขึ้นทะเบียน หากใช้หลักกรรมสิทธิ์ในการพิจารณาก็จะแบ่งประเภทของโบราณสถานได้เป็น
โบราณสถานที่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย
โบราณสถานที่ไม่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย
แต่ถ้าใช้หลักการขึ้นทะเบียนในการพิจารณา โบราณสถานก็จะถูกแบ่งออกเป็นสองประเภทเช่นเดียวกัน คือ
โบราณสถานที่ขึ้นทะเบียน
โบราณสถานที่มิได้ขึ้นทะเบียน
การขึ้นทะเบียนโบราณสถาน
การขึ้นทะเบียนโบราณสถานเป็นหลักการที่ปรากฏมานานตั้งแต่สมัย ที่ใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยโบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ และการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ พ.ศ. 2477 ก็มีหลักการขึ้นทะเบียนโบราณสถานนี้อยู่แล้วแต่กฎหมายมิได้ใช้คำว่า “การขึ้นทะเบียน” เช่นในปัจจุบันแต่ใช้คำว่า “จัดทำบัญชี” ดังจะเห็นได้จากมาตรา 6 ซึ่งบัญญัติว่า
“มาตรา 6 ให้อธิบดีจัดทำบัญชีบรรดาโบราณสถานทั้งหลายที่มีอยู่ในประเทศสยามขึ้นไว้ ไม่ว่าจะเป็นโบราณสถานที่มีเจ้าของเป็นของเอกชนคนใดหรือไม่มีเจ้าของ หรือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน รวมทั้งโบสถ์ วัดวาอาราม และสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นอันเกี่ยวแก่ศาสนา บัญชีนั้นบุคคลใดๆ ย่อมตรวจดูและขอคัดสำเนาได้ หรือขอรับสำเนาบัญชีหรือย่อรายการอันรับรองว่าถูกต้องได้ โดยเสียค่าธรรมเนียมตามที่อธิบดี จะกำหนดไว้ แต่ไม่เกินห้าบาท”
ในกฎหมายฉบับปัจจุบัน คำว่า “จัดทำบัญชี” ก็ยังคงหลงเหลือให้เห็นกันอยู่บ้าง ดังเช่นที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ว่า
“มาตรา 8 บรรดาโบราณสถานซึ่งอธิบดีกรมศิลปากรได้จัดทำบัญชี และประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ และการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย”

ที่มา    http://www.baanjomyut.com/library_2/historic_site/05.html

สถานที่ท่องเที่ยวสุโขทัย

ที่มา http://www.youtube.com/watch?v=T9fggv-Nq_k&feature=related

รูปแบบของการท่องเที่ยว

              การท่องเที่ยว เป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กับตัวเองอีกแนวหนึ่ง ที่ทำให้เกิดความสุข สนุกสนาน เพลิดเพลิน บันเทิงใจ และเกิดการเรียนรู้ ซึ่งทุกคนต่างก็รู้จักความหมาย และวัตถุประสงค์ของการท่องเทียวกันอยู่บ้างแล้ว  

             ในช่วงหลัง เมื่อไม่กี่ปีมานี้ การท่องเที่ยวไทยได้รับการกระตุ้นให้ตื่นตัวเป็นอย่างมาก จนเกิดเป็นกระแสการท่องเที่ยวที่นับว่ามาแรงมากเลยทีเดียว และด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้มีการจัดรูปแบบของการท่องเที่ยวภายในประเทศให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มความแปลกใหม่ที่น่าสนใจและสามารถดึงดูดใจนักท่องเที่ยวได้อย่างดี  

การจัดรูปแบบการท่องเที่ยวในประเทศไทยนั้น ได้แบ่งออกไปตามปัจจัยหลายๆ อย่าง ซึ่งทำให้การท่องเที่ยวเกิดขึ้นในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปอย่างหลากหลาย แต่รูปแบบการท่องเที่ยวที่ Travel in Thailand ได้จัดแบ่งไว้ มีดังนี้  

1. รูปแบบการท่องเที่ยวในแหล่งธรรมชาติ (natural based tourism) ได้แก่  

1.1 การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (ecotourism) เป็นการท่องเที่ยวไปในแหล่งธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น และแหล่งวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับระบบนิเวศ เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องภายใต้การจัดการสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวอย่งมีส่วนร่วมของท้องถิ่นเพื่อมุ่งเน้นการปลูกจิตสำนึกที่ดีในการรักษาระบบนิเวศอย่างยั่งยืน  

1.2 การท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางทะเล (marine ecotourism) เป็นการท่องเที่ยวในแหล่งธรรมชาติทางทะเลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น และแหล่งท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่องกับระบบนิเวศทางทะเล อย่างมีความรับผิดชอบ และเกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องภายใต้การจัดการสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวอย่งมีส่วนร่วมของท้องถิ่นเพื่อมุ่งเน้นการปลูกจิตสำนึกที่ดีในการรักษาระบบนิเวศอย่างยั่งยืน   

1.3 การท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา (geo-tourism) เป็นการท่องเที่ยวในแหล่งธรรมชาติที่มีลักษณะเป็นหินผา ลานหินทราย อุโมงค์โพรง ถ้ำน้ำลอด ถ้ำหินงอกหินย้อย เพื่อชมความงามและศึกษาภูมิทัศน์ต่างๆ บนพื้นผิวโลกที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นหิน ดิน แร่ต่างๆ และฟอสซิล เพื่อให้เกิดความรู้และได้รับประสบการณ์ที่แปลกใหม่ บนพื้นฐานของจิตสำนึกในการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อการรักษาสภาพแวดล้อม โดยประชาชนในท้องถิ่นจะมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยว  

1.4 การท่องเที่ยวเชิงเกษตร (agro tourism) เป็นการท่องเที่ยวในพื้นที่เกษตรกรรม ไร่ สวน ฟาร์มปศุสัตว์ สวนสมุนไพร เพื่อชมความงาม และเกิดการเรียนรู้ และประสบการณ์ โดยมีจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อการรักษาสภาพแวดล้อมของสถานที่นั้นๆ    

1.5 การท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ (astrological tourism) เป็นการท่องเที่ยวเพื่อชมและศึกษาปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ และเรียนรู้ระบบสุริยจักรวาล เช่น สุริยุปราคา จันทรุปราคา ฝนดาวตก และการดูดาวจักราศี ให้เกิดความรู้ ความประทับใจ ความทรงจำ และประสบการณ์ โดยจะต้องมีจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อการรักษาสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งประชาชนในท้องถิ่นจะมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวร่วมกันอย่างยั่งยืน   

2. การท่องเที่ยวในแหล่งวัฒนธรรม (cultural based tourism) ได้แก่   
      
2.1 การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ (historical tourism) เป็นการท่องเที่ยวในแหล่งโบราณคดี และประวัติศาสตร์ เพื่อชมความงาม ให้เกิดความเพลิดเพลินใจ และเพื่อเรียนรู้ ให้เกิดเป็นประสบการณ์ โดยนักท่องเที่ยวจะต้องมีจิตสำนึกและรับผิดชอบต่อการรักษามรดกทางวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อม โดยประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ จะมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวด้วย 

2.2 การท่องเที่ยวชมงานวัฒนธรรมและประเพณี (cultural and traditional tourism) เป็นการท่องเที่ยวเพื่อชมและร่วมงานประเพณีต่างๆ ที่ชาวบ้านท้องถิ่นนั้นๆ จัดขึ้น ให้เกิดความเพลิดเพลิน ความทรงจำ และประสบการณ์ที่ดี รวมทั้งเพื่อเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น พิธีกรรม และความเชื่อต่างๆ ด้วยการมีจิตสำนึกที่ดีและมีความรับผิดชอบในการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม ซึ่งเป้นมรดกอันล้ำค่า โดยชาวบ้านในท้องถิ่นนั้นๆ จะมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยว   

2.3 การท่องเที่ยวชมวิถีชีวิตในชนบท (rural tourism / village tourism) เป็นการท่องเที่ยวเพื่อศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้านตามชนบท เรียนรู้การสร้างสรรค์ผลงานซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เพื่อให้เกิดความรู้ ประสบการณ์ ความเข้าใจในวัฒนธรรมท้องถิ่น และเกิดความเพลิดเพลิน โดยจะมีชาวบ้านในท้องถิ่นนั้นๆ เป็นส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยว  

3. รูปแบบการท่องเที่ยวในความสนใจพิเศษ (special interest tourism) ได้แก่   

3.1 การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (health tourism) เป็นการท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนและเรียนรู้วิธีการรักษาสุขภาพกายและใจ ในแหล่งธรรมชาติ และแหล่งวัฒนธรรม ให้เกิดความเพลิดเพลิน และสุนทรียภาพ ซึ่งอาจจัดอยู่ในรูปแบบการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพและความงาม (health beauty and spa) โดยนักท่องเที่ยวจะต้องมีจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่น และประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ จะมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวด้วย   

3.2 การท่องเที่ยวเชิงทัศนศึกษาและศาสนา (edu-meditation tourism) เป็นการท่องเที่ยวเพื่อการทัศนศึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ปรัชญาทางศาสนา สัจธรรมแห่งชีวิต ด้วยการฝึกสมาธิ โดยจะได้รับประสบการณ์และความรู้ที่แปลกใหม่ และทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ต้องมีจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่น และประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ ให้การมีส่วนร่วมต่อการจัดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ซึ่งการท่องเที่ยวในรูปแบบนี้ จะมีนักท่องเที่ยวบางกลุ่มที่มุ่งเพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหารไทย การนวดแผนไทย เป็นต้น   

3.3 การท่องเที่ยวเพื่อศึกษากลุ่มชาติพันธุ์หรือวัฒนธรรมกลุ่มน้อย (ethnic tourism) เป็นการท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยหรือชนเผ่าต่างๆ เพื่อประสบการณ์ และความรู้ใหม่ๆ ด้วยการมีจิตสำนึกต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่นซึ่งประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมต่อการจัดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน   

3.4 การท่องเที่ยวเชิงกีฬา (sports tourism) เป็นการท่องเที่ยวเพื่อการเล่นกีฬา ให้ได้รับความเพลิดเพลิน ความสนุกสนาน ความตื่นเต้นเร้าใจ ซึ่งก่อให้เกิดผลดีต่อทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการดำน้ำ ตกปลา กอล์ฟ สนุกเกอร์ สกีน้ำ กระดานโต้คลื่น เป็นต้น โดยจะต้องมีจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งประชาชนในท้องถิ่นจะมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน   

3.5 การท่องเที่ยวแบบผจญภัย (adventure travel) เป็นการท่องเที่ยวที่สนุก ตื่นเต้น เร้าใจ ผจญภัยไปในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติในแบบพิเศษ ซึ่งจะสร้างความทรงจำ ความประทับใจ และได้ประสบการณ์ใหม่ๆ จากการท่องเที่ยว   

3.6 การท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ และฟาร์มสเตย์ (home & farm stay) เป็นการท่องเที่ยวที่เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบใช้ชีวิตร่วมกับผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ แบบใกล้ชิด เพื่อที่จะเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรม รวมทั้ง ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมีจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมของท้องถิ่น ซึ่งชาวบ้านจะมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวในท้องถิ่นให้ยั่งยืน   

3.7 การท่องเที่ยวพำนักระยะยาว (longstay) เป็นการท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการใช้ชีวิตในบั้นปลาย หรือผู้ที่ต้องการท่องเที่ยวในต่างแดนเป็นเวลานานอย่างน้อย 1 เดือน   

3.8 การท่องเที่ยวแบบให้รางวัล (incentive travel) เป็นการท่องเที่ยวที่ถูกจัดขึ้นเพื่อเป็นการสมนาคุณแก่ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการทำยอดขายได้ตามเป้าหมาย โดยกลุ่มผู้แทนบริษัทต่างๆ จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าที่พัก และค่าอาหารระหว่างการเดินทาง ในระยะเวลา 2 - 7 วัน ซึ่งจะเป็นการนำเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ หรืออาจมีการผสมผสานกับการท่องเที่ยวในรูปแบบอื่นๆ     

3.9 การท่องเที่ยวเพื่อการประชุม (MICE ย่อมาจาก M=meeting , I=incentive , C=conference , E=exhibition) เป็นการท่องเที่ยวเพื่อบริการให้กับผู้ที่เข้าร่วมประชุมที่มีการจัดรายการนำเที่ยวในรูปแบบต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งมีทั้งแบบเที่ยววันเดียว และแบบเที่ยวพักค้างแรม 2 - 4 วัน โดยมีการคิดราคาแบบเหมารวมค่าอาหารและบริการ โดยการนำเที่ยวจะมีก่อนประชุม (pre-tour) หรือ หลังประชุม (post-tour)   

3.10 การท่องเที่ยวแบบผสมผสาน เป็นการท่องเที่ยวอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ผู้จัดรายการนำเที่ยว ได้คัดสรรรูปแบบการท่องเที่ยวมาอย่างดีแล้ว เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับความแตกต่างจากการเดินทางท่องเที่ยวในระยะเวลาหลายวัน   


         นอกจากนี้ ยังมีการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอีกเยอะแยะ ซึ่งแตกงอกออกมาจากแนวคิดของนักท่องเที่ยวในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเพื่อต้องการอนุรักษ์ธรรมชาติ ที่เรียกว่า Green tourism หรือการท่องเที่ยวเพื่อร่วมเป็นอาสาสมัครในการทำกิจกรรมเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม ที่เรียกว่า Volunteer tourism เป็นต้น  

แต่ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวในรูปแบบไหนก็ตาม นักท่องเที่ยวที่ดีจะต้องมีจิตสำนึกในการช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้ง ศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีของสถานที่นั้นๆ ด้วย เพราะจะทำให้เรามีสถานที่ท่องเที่ยวที่ยังคงสวยงามอย่างนี้ตลอดไป   

ที่มา  http://www.travel.in.th/th/review/knowledge/%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7