วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

แหล่งมรดกโลกของไทย

         
           คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2530 และเห็นชอบให้นำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของไทยรวม 6 แหล่ง เพื่อบรรจุไว้ในบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลก ได้แก่
แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
อุทยานแห่งชาติทางทะเลหมู่เกาะตะรุเตา
และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง
          นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2532 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้ส่งผู้แทน เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลกเป็นประจำทุกปี เพื่อรับทราบแนวทางในการอนุรักษ์และจัดการแหล่งมรดกโลกในระดับสากลเพื่อนำมาเป็นแนวทางการดำเนินงานในประเทศ ในสมัยประชุมของสมัชชาของประเทศภาคีในอนุสัญญาฯ ครั้งที่ 7 ปี พ.ศ. 2532 ประเทศไทยได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการมรดกโลกซึ่งมีทั้งหมด 21 คนจาก 21 ประเทศ โดยได้รับการเลือกตั้งและมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 6 ปี ต่อมาในปี พ.ศ 2533 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกขึ้นโดยมี ศาสตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ เป็นประธาน และสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมเป็น ฝ่ายเลขานุการ เพื่อดำเนินงานต่างๆให้เป็นไปตามข้อผูกพันของอนุสัญญาคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก เช่น การเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลก การเสาะแสวงหาแหล่งมรดกวัฒนธรรมและธรรมชาติที่มีคุณค่าและความสำคัญ เสนอเพื่อบรรจุไว้ในบัญชีแหล่งรายชื่อมรดกโลกรวมทั้งการให้ความคุ้มครอง สงวนรักษาส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติให้คงอยู่เป็นมรดกของมวลมนุษยชาติตลอดไป เป็นต้น นอกจากนั้นคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกนี้ ยังมีหน้าที่ในการประสานงานและสอดส่องดูแลให้มีการดำเนินงาน ตามแผนการจัดการแหล่งมรดกโลกด้วย ซึ่งคณะกรรมการแห่งชาติฯ ได้ร่วมกันปรับปรุงข้อมูลรายละเอียดของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม และธรรมชาติ 6 แหล่งที่ได้ทำการเสนอไปแล้วให้เป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของคณะกรรมการมรดกโลก และคณะกรรมการมรดกโลกได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบข้อเท็จจริงและศักยภาพ ของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติทั้ง 6 แหล่ง โดยละเอียดและในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 15 ปี พ.ศ. 2534 ที่ประเทศสาธารณรัฐตูนิเซีย ได้ประกาศให้แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทยจำนวน 2 แหล่ง คือ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร และอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และแหล่งมรดกทางธรรมชาติ 1 แหล่ง คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ได้รับการบรรจุไว้ในบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลก และในปีถัดมาคือ พ.ศ. 2535 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 16 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศให้แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมอีกแหล่งหนึ่งด้วย
โดยสรุปแล้วปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีโบราณสถานที่ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกอันนำมาซึ่งชื่อเสียง เกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง 3 แห่ง ได้แก่
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย - ศรีสัชนาลัย – กำแพงเพชร
อุทยานประวัติศาสตร์ทั้ง 3 แห่ง อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันและมีอายุไล่เลี่ยกัน อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย ในอดีตเคยเป็นนครหลวงแห่งแรกของไทย อุทยานประวัติศาสตร์ ศรีสัชนาลัย ตั้งอยู่ในอำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ในอดีตศรีสัชนาลัย มีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงเอกของสุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ไม่ไกลจากเมืองเก่าสุโขทัยเท่าใดนัก ในอดีตเมืองกำแพงเพชรถือเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของอาณาจักรสุโขทัย
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
ตั้งอยู่ที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา ภายในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาประกอบด้วยโบราณสถานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวัดมงคลบพิตร พระราชวังโบราณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดพระราม วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และ เพนียดคล้องช้าง ล้วนเป็นหลักฐานทางอารยธรรมซึ่งแสดงถึงระยะเวลาอันสงบสุขและเป็นปึกแผ่นที่ยาวนานที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์
แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ในฐานะที่เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ได้ค้นพบหลักฐานจำนวนมาก ที่สำคัญได้แก่ โครงกระดูกในหลุมฝังศพ ภาชนะดินเผาลายเขียนสี เครื่องมือเครื่องใช้ และเครื่องประดับที่ทำด้วยสำริดและเหล็ก
บทกำหนดโทษกรณีฝ่าฝืนหรือกระทำผิดพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504
แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติโบราณสถานฯ ได้บัญญัติบทกำหนดโทษสำหรับ การกระทำความผิดต่อโบราณสถานไว้ 3 มาตรา ได้แก่ มาตรา 32 มาตรา 34 และมาตรา 35 ซึ่งเมื่อได้พิจารณาบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว สามารถสรุปกรณีการกระทำความผิดต่อโบราณสถานได้ดังนี้
การกระทำที่เป็นเหตุให้ต้องรับโทษตามมาตรา 32 ได้แก่ การบุกรุก ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมเสีย หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน ถ้าเป็นการกระทำต่อโบราณสถานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน มีโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินเจ็ดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าเป็นการกระทำต่อโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว มีโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การกระทำที่เป็นเหตุให้ต้องรับโทษตามมาตรา 34 ได้แก่ กรณีโบราณที่ขึ้นทะเบียนและมีเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ชำรุด หักพัง หรือเสียหาย แล้วไม่แจ้งเป็นหนังสือให้อธิบดีกรมศิลปากรทราบภายในสามสิบวัน กรณีมีการโอนโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วไม่แจ้งการโอนให้อธิบดีกรมศิลปากรทราบ และกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่กำหนดให้ผู้เข้าชมปฏิบัติ (กฎกระทรวงฉบับที่ 1 พ.ศ. 2539) และเสียค่าธรรมเนียมเข้าชมโบราณสถาน (กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2539) มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การกระทำที่เป็นเหตุให้ต้องรับโทษตามมาตรา 35 ได้แก่ กรณีที่ซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อถอน ต่อเติม ทำลาย เคลื่อนย้ายโบราณสถานหรือ ส่วนต่างๆ ของโบราณสถาน หรือขุดค้นสิ่งใดๆ ภายในบริเวณโบราณสถาน หรือปลูกสร้างอาคารภายในบริเวณโบราณสถานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากร หรือฝ่าฝืนเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดไว้ในหนังสืออนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
           พิจารณาคัดเลือกแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม และธรรมชาติ โดยมี ICOMOS (International Council on monuments and Sites) และ IUCN (World Conservation Union) เป็นองค์กรที่ปรึกษาด้านวิชาการ ในการพิจารณาข้อเสนอของแหล่งมรดกโลก ตลอดจนจัดทำรายงานผลการประเมินความเหมาะสมของแหล่งที่นำเสนอเป็นมรดกโลกด้วย บริหารกองทุนมรดกโลก รวมทั้งพิจารณาจัดสรรให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการและการเงินต่อประเทศที่ร้องขอมาอีกด้วย
ข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลก
แหล่งมรดกทางวัฒนธรรม
เป็นตัวแทนซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ ด้านศิลปกรรมหรือตัวแทนของความงดงาม และเป็นผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันฉลาดยิ่ง หรือ
เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวนและภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งการพัฒนาเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใดๆของโลกซึ่งทรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม หรือ
เป็นเอกลักษณ์ หายากยิ่ง หรือเป็นของแท้ดั้งเดิม หรือ
เป็นตัวอย่างของลักษณะโดยทั่วไปของประเภทของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม หรือ
เป็นตัวอย่างของลักษณะเด่นชัด หรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรม วิธีการก่อสร้าง หรือการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่มีความเปราะบางด้วยตัวมันเอง หรือเสื่อมสลายได้ง่ายเพราะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่ไม่สามารถกลับคืนดังเดิมได้ หรือมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ หรือ
มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือมีความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์

ประเภทของโบราณสถาน
การแบ่งแยกประเภทของโบราณสถานอาจกระทำได้ 2 วิธี โดยแบ่งแยกจากหลักการที่ใช้ในการพิจารณาซึ่งได้แก่ หลักกรรมสิทธิ์ และหลักการขึ้นทะเบียน หากใช้หลักกรรมสิทธิ์ในการพิจารณาก็จะแบ่งประเภทของโบราณสถานได้เป็น
โบราณสถานที่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย
โบราณสถานที่ไม่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย
แต่ถ้าใช้หลักการขึ้นทะเบียนในการพิจารณา โบราณสถานก็จะถูกแบ่งออกเป็นสองประเภทเช่นเดียวกัน คือ
โบราณสถานที่ขึ้นทะเบียน
โบราณสถานที่มิได้ขึ้นทะเบียน
การขึ้นทะเบียนโบราณสถาน
การขึ้นทะเบียนโบราณสถานเป็นหลักการที่ปรากฏมานานตั้งแต่สมัย ที่ใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยโบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ และการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ พ.ศ. 2477 ก็มีหลักการขึ้นทะเบียนโบราณสถานนี้อยู่แล้วแต่กฎหมายมิได้ใช้คำว่า “การขึ้นทะเบียน” เช่นในปัจจุบันแต่ใช้คำว่า “จัดทำบัญชี” ดังจะเห็นได้จากมาตรา 6 ซึ่งบัญญัติว่า
“มาตรา 6 ให้อธิบดีจัดทำบัญชีบรรดาโบราณสถานทั้งหลายที่มีอยู่ในประเทศสยามขึ้นไว้ ไม่ว่าจะเป็นโบราณสถานที่มีเจ้าของเป็นของเอกชนคนใดหรือไม่มีเจ้าของ หรือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน รวมทั้งโบสถ์ วัดวาอาราม และสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นอันเกี่ยวแก่ศาสนา บัญชีนั้นบุคคลใดๆ ย่อมตรวจดูและขอคัดสำเนาได้ หรือขอรับสำเนาบัญชีหรือย่อรายการอันรับรองว่าถูกต้องได้ โดยเสียค่าธรรมเนียมตามที่อธิบดี จะกำหนดไว้ แต่ไม่เกินห้าบาท”
ในกฎหมายฉบับปัจจุบัน คำว่า “จัดทำบัญชี” ก็ยังคงหลงเหลือให้เห็นกันอยู่บ้าง ดังเช่นที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ว่า
“มาตรา 8 บรรดาโบราณสถานซึ่งอธิบดีกรมศิลปากรได้จัดทำบัญชี และประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ และการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย”

ที่มา    http://www.baanjomyut.com/library_2/historic_site/05.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น