วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

รูปแบบของการท่องเที่ยว

              การท่องเที่ยว เป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กับตัวเองอีกแนวหนึ่ง ที่ทำให้เกิดความสุข สนุกสนาน เพลิดเพลิน บันเทิงใจ และเกิดการเรียนรู้ ซึ่งทุกคนต่างก็รู้จักความหมาย และวัตถุประสงค์ของการท่องเทียวกันอยู่บ้างแล้ว  

             ในช่วงหลัง เมื่อไม่กี่ปีมานี้ การท่องเที่ยวไทยได้รับการกระตุ้นให้ตื่นตัวเป็นอย่างมาก จนเกิดเป็นกระแสการท่องเที่ยวที่นับว่ามาแรงมากเลยทีเดียว และด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้มีการจัดรูปแบบของการท่องเที่ยวภายในประเทศให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มความแปลกใหม่ที่น่าสนใจและสามารถดึงดูดใจนักท่องเที่ยวได้อย่างดี  

การจัดรูปแบบการท่องเที่ยวในประเทศไทยนั้น ได้แบ่งออกไปตามปัจจัยหลายๆ อย่าง ซึ่งทำให้การท่องเที่ยวเกิดขึ้นในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปอย่างหลากหลาย แต่รูปแบบการท่องเที่ยวที่ Travel in Thailand ได้จัดแบ่งไว้ มีดังนี้  

1. รูปแบบการท่องเที่ยวในแหล่งธรรมชาติ (natural based tourism) ได้แก่  

1.1 การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (ecotourism) เป็นการท่องเที่ยวไปในแหล่งธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น และแหล่งวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับระบบนิเวศ เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องภายใต้การจัดการสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวอย่งมีส่วนร่วมของท้องถิ่นเพื่อมุ่งเน้นการปลูกจิตสำนึกที่ดีในการรักษาระบบนิเวศอย่างยั่งยืน  

1.2 การท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางทะเล (marine ecotourism) เป็นการท่องเที่ยวในแหล่งธรรมชาติทางทะเลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น และแหล่งท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่องกับระบบนิเวศทางทะเล อย่างมีความรับผิดชอบ และเกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องภายใต้การจัดการสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวอย่งมีส่วนร่วมของท้องถิ่นเพื่อมุ่งเน้นการปลูกจิตสำนึกที่ดีในการรักษาระบบนิเวศอย่างยั่งยืน   

1.3 การท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา (geo-tourism) เป็นการท่องเที่ยวในแหล่งธรรมชาติที่มีลักษณะเป็นหินผา ลานหินทราย อุโมงค์โพรง ถ้ำน้ำลอด ถ้ำหินงอกหินย้อย เพื่อชมความงามและศึกษาภูมิทัศน์ต่างๆ บนพื้นผิวโลกที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นหิน ดิน แร่ต่างๆ และฟอสซิล เพื่อให้เกิดความรู้และได้รับประสบการณ์ที่แปลกใหม่ บนพื้นฐานของจิตสำนึกในการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อการรักษาสภาพแวดล้อม โดยประชาชนในท้องถิ่นจะมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยว  

1.4 การท่องเที่ยวเชิงเกษตร (agro tourism) เป็นการท่องเที่ยวในพื้นที่เกษตรกรรม ไร่ สวน ฟาร์มปศุสัตว์ สวนสมุนไพร เพื่อชมความงาม และเกิดการเรียนรู้ และประสบการณ์ โดยมีจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อการรักษาสภาพแวดล้อมของสถานที่นั้นๆ    

1.5 การท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ (astrological tourism) เป็นการท่องเที่ยวเพื่อชมและศึกษาปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ และเรียนรู้ระบบสุริยจักรวาล เช่น สุริยุปราคา จันทรุปราคา ฝนดาวตก และการดูดาวจักราศี ให้เกิดความรู้ ความประทับใจ ความทรงจำ และประสบการณ์ โดยจะต้องมีจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อการรักษาสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งประชาชนในท้องถิ่นจะมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวร่วมกันอย่างยั่งยืน   

2. การท่องเที่ยวในแหล่งวัฒนธรรม (cultural based tourism) ได้แก่   
      
2.1 การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ (historical tourism) เป็นการท่องเที่ยวในแหล่งโบราณคดี และประวัติศาสตร์ เพื่อชมความงาม ให้เกิดความเพลิดเพลินใจ และเพื่อเรียนรู้ ให้เกิดเป็นประสบการณ์ โดยนักท่องเที่ยวจะต้องมีจิตสำนึกและรับผิดชอบต่อการรักษามรดกทางวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อม โดยประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ จะมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวด้วย 

2.2 การท่องเที่ยวชมงานวัฒนธรรมและประเพณี (cultural and traditional tourism) เป็นการท่องเที่ยวเพื่อชมและร่วมงานประเพณีต่างๆ ที่ชาวบ้านท้องถิ่นนั้นๆ จัดขึ้น ให้เกิดความเพลิดเพลิน ความทรงจำ และประสบการณ์ที่ดี รวมทั้งเพื่อเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น พิธีกรรม และความเชื่อต่างๆ ด้วยการมีจิตสำนึกที่ดีและมีความรับผิดชอบในการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม ซึ่งเป้นมรดกอันล้ำค่า โดยชาวบ้านในท้องถิ่นนั้นๆ จะมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยว   

2.3 การท่องเที่ยวชมวิถีชีวิตในชนบท (rural tourism / village tourism) เป็นการท่องเที่ยวเพื่อศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้านตามชนบท เรียนรู้การสร้างสรรค์ผลงานซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เพื่อให้เกิดความรู้ ประสบการณ์ ความเข้าใจในวัฒนธรรมท้องถิ่น และเกิดความเพลิดเพลิน โดยจะมีชาวบ้านในท้องถิ่นนั้นๆ เป็นส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยว  

3. รูปแบบการท่องเที่ยวในความสนใจพิเศษ (special interest tourism) ได้แก่   

3.1 การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (health tourism) เป็นการท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนและเรียนรู้วิธีการรักษาสุขภาพกายและใจ ในแหล่งธรรมชาติ และแหล่งวัฒนธรรม ให้เกิดความเพลิดเพลิน และสุนทรียภาพ ซึ่งอาจจัดอยู่ในรูปแบบการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพและความงาม (health beauty and spa) โดยนักท่องเที่ยวจะต้องมีจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่น และประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ จะมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวด้วย   

3.2 การท่องเที่ยวเชิงทัศนศึกษาและศาสนา (edu-meditation tourism) เป็นการท่องเที่ยวเพื่อการทัศนศึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ปรัชญาทางศาสนา สัจธรรมแห่งชีวิต ด้วยการฝึกสมาธิ โดยจะได้รับประสบการณ์และความรู้ที่แปลกใหม่ และทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ต้องมีจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่น และประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ ให้การมีส่วนร่วมต่อการจัดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ซึ่งการท่องเที่ยวในรูปแบบนี้ จะมีนักท่องเที่ยวบางกลุ่มที่มุ่งเพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหารไทย การนวดแผนไทย เป็นต้น   

3.3 การท่องเที่ยวเพื่อศึกษากลุ่มชาติพันธุ์หรือวัฒนธรรมกลุ่มน้อย (ethnic tourism) เป็นการท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยหรือชนเผ่าต่างๆ เพื่อประสบการณ์ และความรู้ใหม่ๆ ด้วยการมีจิตสำนึกต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่นซึ่งประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมต่อการจัดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน   

3.4 การท่องเที่ยวเชิงกีฬา (sports tourism) เป็นการท่องเที่ยวเพื่อการเล่นกีฬา ให้ได้รับความเพลิดเพลิน ความสนุกสนาน ความตื่นเต้นเร้าใจ ซึ่งก่อให้เกิดผลดีต่อทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการดำน้ำ ตกปลา กอล์ฟ สนุกเกอร์ สกีน้ำ กระดานโต้คลื่น เป็นต้น โดยจะต้องมีจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งประชาชนในท้องถิ่นจะมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน   

3.5 การท่องเที่ยวแบบผจญภัย (adventure travel) เป็นการท่องเที่ยวที่สนุก ตื่นเต้น เร้าใจ ผจญภัยไปในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติในแบบพิเศษ ซึ่งจะสร้างความทรงจำ ความประทับใจ และได้ประสบการณ์ใหม่ๆ จากการท่องเที่ยว   

3.6 การท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ และฟาร์มสเตย์ (home & farm stay) เป็นการท่องเที่ยวที่เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบใช้ชีวิตร่วมกับผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ แบบใกล้ชิด เพื่อที่จะเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรม รวมทั้ง ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมีจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมของท้องถิ่น ซึ่งชาวบ้านจะมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวในท้องถิ่นให้ยั่งยืน   

3.7 การท่องเที่ยวพำนักระยะยาว (longstay) เป็นการท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการใช้ชีวิตในบั้นปลาย หรือผู้ที่ต้องการท่องเที่ยวในต่างแดนเป็นเวลานานอย่างน้อย 1 เดือน   

3.8 การท่องเที่ยวแบบให้รางวัล (incentive travel) เป็นการท่องเที่ยวที่ถูกจัดขึ้นเพื่อเป็นการสมนาคุณแก่ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการทำยอดขายได้ตามเป้าหมาย โดยกลุ่มผู้แทนบริษัทต่างๆ จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าที่พัก และค่าอาหารระหว่างการเดินทาง ในระยะเวลา 2 - 7 วัน ซึ่งจะเป็นการนำเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ หรืออาจมีการผสมผสานกับการท่องเที่ยวในรูปแบบอื่นๆ     

3.9 การท่องเที่ยวเพื่อการประชุม (MICE ย่อมาจาก M=meeting , I=incentive , C=conference , E=exhibition) เป็นการท่องเที่ยวเพื่อบริการให้กับผู้ที่เข้าร่วมประชุมที่มีการจัดรายการนำเที่ยวในรูปแบบต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งมีทั้งแบบเที่ยววันเดียว และแบบเที่ยวพักค้างแรม 2 - 4 วัน โดยมีการคิดราคาแบบเหมารวมค่าอาหารและบริการ โดยการนำเที่ยวจะมีก่อนประชุม (pre-tour) หรือ หลังประชุม (post-tour)   

3.10 การท่องเที่ยวแบบผสมผสาน เป็นการท่องเที่ยวอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ผู้จัดรายการนำเที่ยว ได้คัดสรรรูปแบบการท่องเที่ยวมาอย่างดีแล้ว เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับความแตกต่างจากการเดินทางท่องเที่ยวในระยะเวลาหลายวัน   


         นอกจากนี้ ยังมีการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอีกเยอะแยะ ซึ่งแตกงอกออกมาจากแนวคิดของนักท่องเที่ยวในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเพื่อต้องการอนุรักษ์ธรรมชาติ ที่เรียกว่า Green tourism หรือการท่องเที่ยวเพื่อร่วมเป็นอาสาสมัครในการทำกิจกรรมเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม ที่เรียกว่า Volunteer tourism เป็นต้น  

แต่ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวในรูปแบบไหนก็ตาม นักท่องเที่ยวที่ดีจะต้องมีจิตสำนึกในการช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้ง ศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีของสถานที่นั้นๆ ด้วย เพราะจะทำให้เรามีสถานที่ท่องเที่ยวที่ยังคงสวยงามอย่างนี้ตลอดไป   

ที่มา  http://www.travel.in.th/th/review/knowledge/%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น