วันจันทร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2555

การพัฒนาบุคลากรเพื่อจัดการแหล่งท่องเที่ยว

การพัฒนาบุคลากรเพื่อจัดการแหล่งท่องเที่ยว
        บุคลากรที่ดำเนินงานบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวในที่นี้ แท้จริงแล้วคือสมาชิกในชุมชนทุกคนซึ่งมีส่วนในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนด้วยการปรับเปลี่ยนบทบาทมาตอบสนอง
        กิจกรรมการท่องเที่ยว อาจแบ่งประเภทของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวชุมชนได้ 3 ประเภท ด้วยกันดังนี้
        1. สมาชิกในชุมชน เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงจากสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรการท่องเที่ยวทั้งด้านบวกและด้านลบเมื่อสามารถรักษาสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติให้อยู่ในสภาพที่
สมดุล สวยงาม น่าอยู่ จะทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวในชุมชนนั้น สมาชิกในชุมชนย่อมได้รับผลดีในเชิงเศรษฐกิจไปด้วย
        2. ผู้มีหน้าที่นำเที่ยวหรือมัคคุเทศก์ เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยว จึงเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อนักท่องเที่ยวมากที่สุดมัคคุเทศก์จึงมีบทบาทสำคัญในการที่จะช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรการท่องเที่ยวตามธรรมชาติได้เป็นอย่างดี การให้คำแนะนำที่ถูกต้องในระหว่างการนำนักท่องเที่ยวออก
        ท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่าง ๆ ควรจะแจ้งข้อมูล ทำความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะกฎระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ของแหล่งท่องเที่ยวชุมชน มีกิริยามารยาทที่เรียบร้อยละมุมละม่อม มีการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมและเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้และดูแลรักษาทรัพยากรการท่องเที่ยวตามธรรมชาติ
        3. ผู้ดำเนินการกิจกรรมการท่องเที่ยวในชุมชน เป็นบุคลากรสำคัญที่จะช่วยการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการท่องเที่ยว โดยการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่นักท่องเที่ยว มีการจัดทำแผนการเดินทางและกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะเกี่ยวกับสภาพพื้นที่ ข้อมูลทั่วไปประเพณีวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง แนะนำการปฏิบัติของนักท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับชุมชน ให้ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศของพื้นที่ ตลอดจนแนะนำข้อควรระวังต่าง ๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบทั้งกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และตัวนักท่องเที่ยวเอง
แนวทางการพัฒนาบุคลากรเพื่อบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว
        การพัฒนาบุคลากรเพื่อบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวได้กำหนดให้มีแนวทางการดำเนินงานออกเป็น 5 ระดับ ดังนี้
        1. การพัฒนาศักยภาพตนเอง โดยการเรียนรู้จากนักท่องเที่ยวและการฝึกปฏิบัติจริง มีการศึกษาค้นคว้าและเรียนรู้ด้วยตนเองเข้ารับการอบรมและศึกษาดูงานที่เกี่ยวข้อง
        2. การพัฒนาทีมงาน มีการจัดตั้งกลุ่ม ชมรมหรือคณะทำงานเพื่อการจัดการด้านการท่องเที่ยว มีการอบรมให้ความรู้แก่ทีมงาน เช่น ไปศึกษาดูงานในสถานที่ต่าง ๆ มีการเชิญหน่วยงานภายนอกเข้ามาถ่ายทอดและให้ความรู้กับบุคลากรในพื้นที่
        3. การถ่ายทอดความรู้จากผู้มีประสบการณ์ในชุมชนปราชญ์ชาวบ้าน หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น ไปสู่เยาวชนรุ่นหลังมีการถ่ายทอดจากผู้มีประสบการณ์และความรู้เฉพาะด้านไปสู่บุคลากรในชุมชน มีการสนับสนุนบุคลากรทดแทน มีการจัดประชาคมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มชุมชนที่จัดกิจกรรมการท่องเที่ยว
        4. การจัดทำฐานข้อมูลองค์ความรู้ในชุมชน โดยการถ่ายทอด การศึกษาค้นคว้า การศึกษาดูงาน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างพื้นที่ นำมาจัดทำเป็นมาตรฐานข้อมูลแห่งการเรียนรู้ชุมชน และจัดทำศูนย์ข้อมูลเรียนรู้ระดับท้องถิ่น
        5. การวิจัยและประเมินผล โดยการจัดทำแบบสอบถามเพื่อประเมินผลการให้บริการอันนำไปสู่การพัฒนาบุคลากรเพื่อการให้บริการที่ดีขึ้น มีการศึกษาวิจัยเฉพาะด้านเพื่อการจัดการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น
ที่มา      http://www2.suratthani.go.th/km/index-20.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น